ตั้งกระทู้ ตอบ
กลับไปยังรายการ
  • 4497เข้าชม
  • 0ตอบกลับ

อยู่คนเดียวดีกว่าร่วมกับคนพาล [คัดลอกลิงค์]

ถอยกลับ ถัดไป
ออฟไลน์ kung

UIDผู้ใช้ลำดับที่ 52

เพศ : ไม่ระบุเพศ

 โพสต์ : 30

 สำคัญ : 0

 เงิน : 30 (บาท)
 ความดี : 29 (แต้ม)
 เครดิต : 30 (แต้ม) [เติม]
 จิตพิสัย: 1 (แต้ม)
เฉพาะโพสต์แรก ลำดับปกติ เครื่องมือ ลิงก์โพสนี้   โพสต์เมื่อ: 2011-03-30 16:19:26: 2011-03-30 จำนวนผู้เข้าชม: 4497 ท่าน



พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยเมืองโกสัมพีประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ทรงปรารภเหล่าภิกษุที่ทะเลาะกันในเมืองโกสัมพี ตรัสเรื่องนี้ ดังนี้
เนื้อเรื่องมีมาแล้วในโกสัมพิกขันธกะ สำหรับในที่นี้มีความย่อ ดังต่อไปนี้.
ได้ยินว่า คราวนั้นภิกษุสองรูป คือ พระวินัยธรหนึ่ง พระธรรมกถึกหนึ่ง อยู่ในอาวาสเดียวกัน วันหนึ่งพระธรรมกถึกถ่ายอุจจาระ เหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะ แล้วก็ออกไป พระวินัยธรเข้าไปในที่นั้นทีหลัง เห็นมีน้ำเหลืออยู่ในภาชนะนั้นเข้า จึงออกมาถามพระธรรมกถึกว่า อาวุโส ท่านเหลือน้ำไว้หรือ ?
พระธรรมกถึกตอบว่า ขอรับผมเหลือไว้
พระวินัยธรถามว่า ท่านไม่รู้ว่าเป็นอาบัติในข้อนี้หรือ ?
พระธรรมกถึกตอบว่า ขอรับผมไม่รู้
พระวินัยธรกล่าวว่า อาวุโส การที่ท่านเหลือน้ำไว้ในภาชนะนั้นเป็นอาบัติ
พระธรรมกถึกกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นผมจักปลงอาบัติ
พระวินัยธรกล่าวว่า อาวุโส ถ้าท่านไม่แกล้งทำไปโดยไม่มีสติก็ไม่เป็นอาบัติ
พระธรรมกถึกนั้นเข้าใจอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ พระวินัยธรได้บอกศิษย์ของตนว่า พระธรรมกถึกนี้แม้ต้องอาบัติก็ไม่รู้ พวกศิษย์ของพระวินัยธรเห็นพวกศิษย์ของพระธรรมกถึกเข้าก็กล่าวว่า อุปัชฌาย์ของพวกท่านต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ
พวกศิษย์ของพระธรรมกถึกได้พากันไปบอกแก่อุปัชฌาย์ของตน พระธรรมกถึกกล่าวอย่างนี้ว่า พระวินัยธรนี้ทีแรกบอกว่าไม่เป็นอาบัติ บัดนี้ว่าเป็นอาบัติ ท่านนี่พูดเท็จ
พวกศิษย์พระธรรมกถึกพากันไปกล่าวกับพวกศิษย์ของพระวินัยธรว่า อุปัชฌาย์ของพวกท่านพูดเท็จ แล้วได้ทะเลาะกันด้วยประการอย่างนี้
ต่อแต่นั้นพระวินัยธรได้ช่องจึง ทำอุกเขปนียกรรม กล่าวโทษในการไม่เห็นอาบัตินั้น ตั้งแต่นั้นมา อุบาสก อุบาสิกาผู้ถวายปัจจัยแก่ภิกษุเหล่านั้นได้แบ่งเป็นสองพวก ภิกษุณีผู้รับโอวาทก็ดี อารักขเทวดาก็ดี อากาสัฏฐกเทวดาที่เคยเห็นเคยคบกับอารักขเทวดาก็ดี ตลอดถึงพรหมโลกบรรดาที่เป็นปุถุชน ได้แยกกันเป็นสองพวก ได้เกิดโกลาหลไปถึงภพชั้นอกนิษฐ์
ในอดีตกาล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระตถาคต กราบทูลเรื่องของพวกภิกษุผู้กล่าวโทษว่า พระธรรมกถึกนี้ พวกเรากล่าวโทษด้วยกรรมอันเป็นธรรมทีเดียว และเรื่องของพวกภิกษุผู้ประพฤติตามพระธรรมกถึกผู้ถูกกล่าวโทษอ้างว่า อาจารย์ของพวกเราถูกกล่าวโทษด้วยกรรมอันไม่เป็นธรรม และการณ์ที่พวกภิกษุเหล่านั้น แม้พวกภิกษุผู้กล่าวโทษห้ามอยู่ก็ยังเที่ยวตามแวดล้อมพระธรรมกถึกนั้น ให้พระศาสดาทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงส่งภิกษุไปสองครั้งโดยมีพระพุทธดำรัสไปว่า ขอสงฆ์ จงสามัคคีกันเถิด ทั้งสองครั้งทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะสามัคคีกัน ในครั้งที่ ๓ ทรงทราบว่า ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว จึงเสด็จไปยังสำนักของภิกษุเหล่านั้น ตรัสโทษในการกล่าวโทษของพวกภิกษุผู้กล่าวโทษ และในการไม่เห็นอาบัติของพวกภิกษุนอกนี้แล้วเสด็จหลีกไป
พระศาสดาทรงบัญญัติวัตรในโรงภัตว่า พึงนั่งในอาสนะที่มีอาสนะอื่นคั่นกลางในระหว่างภิกษุเหล่านั้นผู้ทำอุโบสถกรรมเป็นต้นในสีมาเดียวกัน ณ โฆสิตารามนั่นแหละ แล้วก็เกิดร้าวรานกันอีก ในโรงภัตเป็นต้น
พระศาสดาได้ทรงสดับว่า บัดนี้ภิกษุเหล่านั้นยังร้าวรานกันอยู่ จึงเสด็จไปตรัสเตือนว่า อย่าเลยภิกษุทั้งหลาย อย่าร้าวรานกันเลย ดังนี้ เป็นต้น เมื่อพระธรรมวาทีรูปหนึ่งซึ่งไม่ปรารถนาจะให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลำบากได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ผู้ธรรมสามีจงยับยั้ง มีความขวนขวายน้อย อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมเถิด พวกข้าพระองค์จักยังทำการร้าวรานบาดหมางทะเลาะวิวาทกัน
พระศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว
ในเมืองพาราณสีได้มี พระราชาครองแคว้นกาสีมีพระนามว่าพรหมทัต ดังนี้ แล้วตรัสเรื่องที่พระเจ้าพรหมทัตชิงราชสมบัติของพระเจ้าทีฆีติโกศล จับพระเจ้าทีฆีติโกศลซึ่งปลอมพระองค์ซ่อนอยู่ให้ปลงพระชนม์เสีย และเรื่องที่ทีฆาวุกุมารถวายชีวิตแก่พระเจ้าพรหมทัต แล้วสองกษัตริย์สามัคคีกันแต่นั้นมา
ตรัสสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย พระราชาผู้ทรงมีอาชญามีศัสตรา ยังมีขันติโสรัจจะถึงเพียงนี้ พวกเธอบวชในธรรมวินัยที่เราตถาคตกล่าวดีแล้วอย่างนี้ พึงมีขันติและโสรัจจะ ข้อนี้จะเป็นความงามในธรรมวินัยนี้ แท้แล
พระศาสดาตรัสห้ามถึงสองครั้งสามครั้งว่า อย่าเลยภิกษุทั้งหลาย อย่าร้าวรานกันเลย ทรงเห็นว่าไม่ลดละกันได้ จึงทรงดำริว่า พวกโมฆบุรุษ เหล่านี้ถูกกิเลสหุ้มห่อ ยากที่จะรู้สำนึก จึงเสด็จหลีกไป วันรุ่งขึ้น พระองค์เสด็จกลับจากบิณฑบาต ทรงพักในพระคันธกุฎีหน่อยหนึ่ง ทรงเก็บเสนาสนะ ทรงบาตรและจีวรของพระองค์ ประทับในอากาศ ท่ามกลางสงฆ์ ตรัสพระคาถาทั้งหลายนี้ว่า:
[๑๒๑๖] คนพาลมีเสียงอื้ออึงเหมือนกันหมด สักคนหนึ่งก็ไม่รู้สึกตนว่าเป็นคน
พาล เมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่รู้เหตุอื่นโดยยิ่งกว่าสงฆ์แตกกันเพราะเรา.
[๑๒๑๗] เพราะเป็นคนมีสติหลงลืม ยังพูดว่าตนเป็นบัณฑิต มีวาจาเป็นโคจร ช่าง
พูด ย่อมปรารถนาจะให้เสียงออกจากปากอยู่เพียงใด ก็พูดไปเพียงนั้น
เขาถูกความทะเลาะนำไปแล้ว ยังไม่รู้ว่าการทะเลาะนั้นเป็นโทษ.
[๑๒๑๘] ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตี
เรา คนโน้นได้ชำนะเรา คนโน้นได้ลักของๆ เรา เวรของชนเหล่านั้น
ย่อมไม่ระงับเลย.
[๑๒๑๙] ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้น
ได้ตีเรา คนโน้นได้ชำนะเรา คนโน้นได้ลักของๆ เรา เวรของชน
เหล่านั้นย่อมระงับไป.
[๑๒๒๐] ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับ
เพราะความไม่มีเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า.
[๑๒๒๑] ก็ชนเหล่าอื่นย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราจะพากันยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้
ฝ่ายชนเหล่าใดในหมู่นั้นย่อมรู้สึกได้ ความหมายมั่นกันย่อมสงบระงับ
ไป เพราะการทำไว้ในใจโดยแยบคายของชนเหล่านั้น.
[๑๒๒๒] คนที่ปล้นแว่นแคว้น ชิงทรัพย์สมบัติตัดกระดูกกัน ปลงชีวิตกัน ก็
ยังกลับสามัคคีกันได้ เหตุไรเธอทั้งหลายจึงไม่สามัคคีกันเล่า?
[๑๒๒๓] ถ้าจะพึงได้สหายผู้มีปัญญา เป็นนักปราชญ์เที่ยวไปร่วมกัน ผู้มีปกติ
อยู่ด้วยกรรมดี พึงครอบงำอันตรายทั้งปวงเสีย แล้วดีใจ มีสติเที่ยวไป
กับสหายนั้น.
[๑๒๒๔] ถ้าไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญา เป็นนักปราชญ์เที่ยวไปร่วมกัน ผู้มีปกติ
อยู่ด้วยกรรมดี พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เหมือนพระราชาทรงสละ
แว่นแคว้นเสด็จไปแต่พระองค์เดียว หรือเหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปใน
ป่าแต่เชือกเดียว ฉะนั้น.
[๑๒๒๕] การเที่ยวไปผู้เดียวประเสริฐกว่า เพราะคุณเครื่องความเป็นสหายย่อมไม่
มีในคนพาล ควรเที่ยวไปแต่ผู้เดียวแต่ไม่ควรทำบาป เหมือนช้างมาตังคะ
มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่า ไม่ทำกรรมชั่ว ฉะนั้น.
พระศาสดาแม้ตรัสอย่างนี้แล้ว เมื่อยังไม่อาจให้ภิกษุเหล่านั้น ปรองดองกันได้ จึงเสด็จไปยังพาลกโลณการามคาม ทรงแสดงอานิสงส์ในความเป็นผู้อยู่ผู้เดียวแก่พระภัคคุเถระ จากที่นั้นเสด็จไปถึงที่อยู่ของกุลบุตรสามคน ทรงแสดงอานิสงส์ในสามัคคีรสแก่กุลบุตรเหล่านั้น ต่อจากนั้นเสด็จไปถึงปาริไลยกไพรสณฑ์ ประทับอยู่ ณ ที่นั้นตลอดสามเดือน ไม่เสด็จมาเมืองโกสัมพีอีก เสด็จไปเมืองสาวัตถีเลย.
พวกอุบาสกชาวเมืองโกสัมพีปรึกษากันว่า พระผู้เป็นเจ้าเหล่าภิกษุชาวโกสัมพีนี้ ทำความเสียหายให้แก่พวกเรามาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระอาภิกษุเหล่านี้ จึงหลีกไปเสีย พวกเราจักไม่กระทำสามีจิกรรมมีการกราบเป็นต้น แก่ภิกษุเหล่านี้เลย จักไม่ถวายบิณฑบาตแก่ท่านที่เข้ามาบิณฑบาต เมื่อทำเช่นนี้ภิกษุเหล่านี้จักหลีกไปบ้าง จักให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเลื่อมใสบ้าง ดังนี้แล้วก็ทำตามที่ปรึกษากันนั้น ภิกษุเหล่านั้นถูกพวกอุบาสกลงทัณฑกรรมเช่นนั้น จึงพากันไปเมืองสาวัตถีกราบทูลขอขมาโทษต่อ พระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระราชบิดาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเจ้าสุทโธทนมหาราชใน บัดนี้ พระราชมารดาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระมหามายาในบัดนี้ ทีฆาวุกุมารในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ โกสัมพิยชาดก

ให้คะแนนโพสต์ตามความรู้สึกคุณ

สุดยอด

เศร้า

น่าตลก

แฮปปี้

โกรธ

เบื่อ

ผวา
ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้ถูกให้:
ตั้งกระทู้ ตอบ
กลับไปยังรายการ
กล่องตอบกลับด่วน
จำกัด255 ตัวอักษร
ขี้เกียจตอบหรือเปล่า ใช้ตรงนี้สิ!!
กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
 
ถอยกลับ ถัดไป