ตั้งกระทู้ ตอบ
กลับไปยังรายการ
  • 13462เข้าชม
  • 0ตอบกลับ

ข้อมูลทั่วไปจังหวัดเพชรบุรี [คัดลอกลิงค์]

ถอยกลับ ถัดไป
ออฟไลน์ watkaeng

UIDผู้ใช้ลำดับที่ 6

เพศ : ชาย

 โพสต์ : 2068

 สำคัญ : 0

 เงิน : 2020 (บาท)
 ความดี : 1047 (แต้ม)
 เครดิต : 2061 (แต้ม) [เติม]
 จิตพิสัย: 997 (แต้ม)
เหรียญ

ดูเหรียญทั้งหมด

เฉพาะโพสต์แรก ลำดับปกติ เครื่องมือ ลิงก์โพสนี้   โพสต์เมื่อ: 2010-07-07 16:51:59: 2010-07-07 จำนวนผู้เข้าชม: 13462 ท่าน
จังหวัดเพชรบุรี :: ข้อมูลทั่วไป
ที่มาจาก http://www.tourthai.com



คำขวัญเมืองเพชรบุรี
" เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม "
เพชรบุรี เป็นจังหวัดในภาคกลางที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 123 กิโลเมตร เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยมีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งสมัยสุโขทัยและมีหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงสมัยขอมและสมัยทวารวดี ทั้งยังเคยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญชั้นเมืองลูกหลวงในสมัยอยุธยา

เพชรบุรีมีพื้นที่ 6,255.138 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างไทยกับสหภาพพม่า เฉพาะในเขตจังหวัดเพชรบุรีมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบไปจนจดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยซึ่งมีความยาวจากเหนือจดใต้ ประมาณ 80 กิโลเมตร พื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี มีความยาวตลอดสาย 227 กิโลเมตร แม่น้ำบางกลอย มีความยาว 44 กิโลเมตร และแม่น้ำบางตะบูน มีความยาว 18 กิโลเมตร  
ประชากรจังหวัดเพชรบุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำนา สวนผลไม้ ทำน้ำตาลโตนด เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง


ประวัติและความเป็นมา :
เพชรบุรี เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ นับเนื่องไปได้เป็นพันปี จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่บ่งว่าเคยมีคนอาศัยอยู่ เป็นชุมชนถาวรนั้นมีอายุย้อนไปถึงยุคทวารวดีเลยทีเดียว
ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ อยู่ในดินแดนบางส่วนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้ คือ ในราว 800 ปีมาแล้วนั้น มีจารึกพระขรรค์ ที่กล่าวถึงเมืองเมืองหนึ่งที่ชื่อว่า ศรีวิชัยวัชรปุระ เมืองนี้ นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า หมายถึงเมืองเพชรบุรี ด้วยเหตุที่คำว่า วัชรปุระ นั้นเมื่อแผลงอักษร ว เป็น พ ก็จะได้เป็นพัชร หรือ เพชร และ ปุระกับบุรี ก็มีความหมายเหมือนกัน ดังนั้น วัชรปุระ กับ เพชรบุรี ก็คือ คำคำเดียวกันนั่นเอง
ชื่อเมืองเพชรบุรีนี้ จะมีที่มาจากอะไรหรือ มีความหมายเกี่ยวเนื่องมาจากสิ่งใดไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ชื่อ เพชรบุรี นั้น ก็ปรากฎหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีใช้ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับชื่อ วัชรปุระ โดยมีกล่าวถึงในจารึกสมัยสุโขทัย อายุกว่า 700 ปีมาแล้วเป็นเรื่องราวการเดินทางของเชื้อพระวงศ์กษัตริย์สุโขทัยพระองค์หนึ่ง จากศรีลังกา กลับมายังสุโขทัย ในจารึกกล่าวว่าเมื่อขึ้นบกที่เมืองตะนาวศรีแล้ว ท่านได้เดินทางผ่านเพชรบุรี ราชบุรี และอยุธยา เพื่อจะกลับไปยังสุโขทัย
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพชรบุรี มีความเกี่ยวข้องกับตำนานของปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยาว่า พระเจ้าอู่ทองนั้นเคยครองเมืองเพชรบุรีมาก่อน แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งในประวัติศาสตร์ ก็คือ ตลอดสมัยอาณาจักรอยุธยา ซึ่งมีศึกสงครามรบพุ่งกับรัฐหรือ อาณาจักรใกล้เคียงอยู่แทบจะไม่ว่างเว้นนั้น เพชรบุรี เป็นหัวเมืองสำคัญอย่างยิ่งในสองสถานะสถานะแรกคือ เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหาร เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของเพชรบุรี มีพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกทำนา ที่อุดมสมบูรณ์ยิ่ง สถานะที่สอง คือ เป็นเมืองที่มีชัยภูมิดี ทั้งทางบกและทางทะเล ในยามศึก เพชรบุรี เป็นเมืองหน้าด่านทางใต้ที่สำคัญของอาณาจักรอยุธยา เมื่อพม่ายกทัพมาทางบก โดยใช้เส้นทางช่องสิงขรด้านใต้ ในยามสงบ เพชรบุรี มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่ช่วยดูแลหัวเมืองปักษ์ใต้ชายทะเล
เพชรบุรี คงดำรงสถานะหัวเมืองสำคัญเช่นนี้ สืบมาจนล่วงเข้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯอังกฤษ เข้ายึดครองพม่า ทำให้การสงครามระหว่างพม่า กับไทย ยุติลงอย่างสิ้นเชิง บทบาทหัวเมืองหน้าด่านของ เพชรบุรี จึงเปลี่ยนแปลงไปนับแต่นั้นมา
ในสมัยต่อมา เพชรบุรี ยังคงมีชื่อปรากฎเกี่ยวข้องอยู่กับประวัติศาสตร์ไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ แต่ความสำคัญของเมืองเพชร กลับกลายจากเมืองทางยุทธศาสตร์ มาเป็นเมืองที่ประทับ ในการเสด็จแปรพระราชฐานของพระมหากษัตริย์ ถึงสามรัชกาลติดต่อกัน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6ร่องรอยที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ที่ยังคงเหลืออยู่ ได้แก่ ความทรงจำที่เล่าขานกันสืบมา อย่างภาคภูมิใจในหมู่ชาวเมืองเพชร และพระราชวังสำคัญสามแห่ง คือ พระนครคีรี พระรามราชนิเวศน์ และพระราชนิเวศน์มฤคทายวันที่ยังคงอยู่คู่เมืองเพชรบุรีสืบมา
อาณาเขต :ทิศเหนือ       ติดต่อกับอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
ทิศใต้       ติดต่อกับอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทิศตะวันออก  ติดต่อชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก       ติดต่อกับสหภาพพม่า

จังหวัดเพชรบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คืออำเภอเมือง อำเภอเขาย้อย อำเภอ หนองหญ้าปล้อง  อำเภอบ้านแหลม  อำเภอบ้านลาด  อำเภอท่ายาง  อำเภอแก่งกระจาน  และอำเภอชะอำ

จังหวัดเพชรบุรี :: แผนที่



จังหวัดเพชรบุรี :: การเดินทาง


ทางรถยนต์

1. เส้นทางนครปฐม - ราชบุรี - เพชรบุรี ใช้ ถ.บรมราชชนนี หรือถนนคู่ขนานลอยฟ้า จากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ผ่านเขตตลิ่งชันแยกพุทธมณฑลสาย 2 แยกพุทธมณฑลสาย 4 จนไปบรรจบกับ ถ.เพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ซึ่งตรงมาจากท่าพระบางแค หนองแขม อ้อมน้อย จนถึง อ.นครชัยศรี จากนั้น มุ่งตรงผ่าน จ.นครปฐม จ.ราชบุรี และเข้าสู่ จ.เพชรบุรี รวมระยะทาง จนถึงตัวเมืองเพชรบุรี ประมาณ 166 กม.

2. เส้นทางสมุทรสาคร - สมุทรสงคราม - เพชรบุรี ใช้ ถ.พระราม 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) ซึ่งเริ่มต้นจากทางด่วนเฉลิมมหานคร เชิงสะพานพระราม 9 ผ่านเขตบางมด ภาษีเจริญ หัวกระบือ เอกชัยจนเข้าเขต จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี จนบรรจบกับ ถ.เพชรเกษมที่บริเวณแยกวังมะนาว เข้าสู่ จ.เพชรบุรี รวมระยะทาง จนถึงตัวเมืองเพชรบุรี ประมาณ 121 กม.
สำหรับผู้จะเดินทางไปหาดชะอำ ถ้าใช้ ถ.เพชรเกษม โดยไม่เข้าตัวเมืองเพชรบุรี อาจเดินทางถึงที่หมายได้เร็วก็จริง แต่ถ้าใช้เส้นทางสาย 3177 ไปทางหาดเจ้าสำราญ - หาดปึกเตียน เส้นทางจะผ่านทุ่งนา และเลียบชายทะเล ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามทางโดยรถประจำทาง


รถโดยสารประจำทางมีทั้งรถปรับอากาศชั้น 1 ชั้น 2  และรถธรรมดา ขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ ถ.บรมราชชนนี รถไปเพชรบุรีนั้นมีสองเส้นทาง คือ
-  สายใหม่ หมายถึงรถที่วิ่งเส้นทางสมุทรสาคร - สมุทรสงคราม - เพชรบุรี สายใหม่จะใกล้กว่า เป็นที่นิยมของคนเมืองเพชรบุรีเป็นเส้นทางเดินรถ ปอ.1
- สายเก่า หมายถึงรถที่วิ่งเส้นทาง นครปฐม - ราชบุรี - เพชรบุรี ระยะทางไกลกว่าสายใหม่ เป็นเส้นทางเดินรถ ปอ.2 และรถธรรมดา
รถปรับอากาศจอดที่สถานีรถปรับอากาศเพชรบุรี ติดกับตลาดโต้รุ่ง เยื้องที่ทำการเทศบาลเมืองเพชรบุรี ตรงจุดบรรจบของ ถ.รถไฟ กับ ถ.ดำเนินเกษม
รถโดยสารธรรมดา ใช้เส้นทางสายเก่า (ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านราชบุรี) และไม่เข้าตัวเมืองเพชรบุรี โดยไปจอดที่สถานีขนส่งข้างวัดถ้ำแก้วใกล้กับสถานีเคเบิ้ลคาร์ ด้านหลังเขาวัง (แต่รถโดยสารธรรมดานี้ไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก ยังไม่รับรองและมีผู้โดยสารร้องเรียนเรื่องการบริการอยู่เสมอ ๆ)
รถโดยสารไปชะอำ มีเฉพาะรถปรับอากาศชั้น 1  ไปจอดที่สถานีขนส่งชะอำ ถ.ร่วมจิตต์ หรือ ถนนเลียบชายหาด
นอกจากนี้ยังสามารถนั่งรถโดยสารประจำทางที่ลงใต้ได้ทุกจังหวัด หากจะไปยังตัวเมืองเพชรบุรี ก็ลงรถที่สถานีขนส่งข้างวัดถ้ำแก้ว ถ้าไปชะอำ รถจะจอดที่ปั๊มเชลล์ ก่อนถึงสี่แยกชะอำ หรือหากต้องการลงระหว่างทาง ก็สามารถลงได้ตามสี่แยกไฟแดงใหญ่ๆ บน ถ.เพชรเกษม
รถโดยสารทุกประเภท ไม่รับจองตั๋วล่วงหน้าทางโทรศัพท์ นอกจากไปชำระเงินสดที่สถานีเท่านั้น
ถ้าต้องการความสะดวก รวดเร็ว สามารถเลือกนั่งรถตู้โดยสารได้ด้วย โดยเป็นรถตู้สายกรุงเทพฯ - หัวหิน ในกรุงเทพฯ รถจอดอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หน้า รพ.ราชวิถี รถจะส่งผู้โดยสารลงสามจุด คือ ที่หน้าบิ๊กซี เพชรบุรี สี่แยกชะอำ และที่หัวหินขากลับ เข้ากรุงเทพฯ สามารถดักรอที่จุดต่างๆ เหล่านี้ได้ตารางโทรศัพท์ติดต่อรถโดยสาร ที่สถานีขนส่งสายใต้ กรุงเทพฯ
ประเภทรถบริษัทโทรศัพท์
ปรับอากาศชั้น 1
กรุงเทพฯ - เพชรบุรีทัวร์ จำกัด
หัวหิน - ปราณทัวร์ จำกัด
02-435-7408
02-435-5097 , 02-884-6192
ปรับอากาศชั้น 2 (สายใหม่)
บริษัทขนส่ง จำกัด
02-435-1195-6

ตารางโทรศัพท์ติดต่อรถโดยสาร ที่เพชรบุรี
ประเภทรถบริษัทสถานีโทรศัพท์
ปรับอากาศชั้น 1
กรุงเทพฯ - เพชรบุรีทัวร์ จำกัด

หัวหิน - ปราณทัวร์ จำกัด
ใกล้ที่ทำการ ปณ.
อ.ท่ายาง
อ.บ้านแหลม
ถ.ร่วมจิตต์
อ.ชะอำ
032-425-922
032-461-813
032-483-314
032-471-654
ปรับอากาศชั้น 2 (สายใหม่)
บริษัทขนส่ง จำกัด
ใกล้ที่ทำการ ปณ.
032-425-307

หมายเหตุ สายเก่าผ่าน จ.นครปฐม และราชบุรี ส่วนสายใหม่ผ่าน จ.สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
ทางรถไฟ


สำหรับรถไฟ มีทั้งรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน ฯลฯ การเที่ยวทางรถไฟต้องใช้ระยะเวลาเดินทางเพิ่มขึ้นทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของรถไฟ แต่ทัศนียภาพสองข้างทาง ก็ให้บรรยากาศ และความเพลิดเพลินในอีกรูปแบบที่ต่างไปจากการเดินทางโดยรถยนต์ นอกจากนี้ รฟท. ยังให้บริการนำเที่ยว เมืองเพชรโดยใช้เวลา 1 วันด้วย ค่าโดยสารรถไฟ มีสองส่วน คือ ค่าธรรมเนียมรถไฟ ซึ่งจ่ายตามประเภทรถและค่าโดยสารซึ่งจ่ายตามชั้นที่นั่งนำเที่ยวเมืองเพชร โดย รฟท.

หากต้องการท่องเที่ยวแบบประหยัดเวลา สะดวกสบาย และปลอดภัย รฟท. ได้จัดนำเที่ยวแบบพิเศษ ไปเช้ากลับเย็น สู่ จ.เพชรบุรีทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดราชการ โดยขบวนรถจะออกจากสถานีหัวลำโพง เวลา 06.30 น. หยุดนมัสการพระปฐมเจดีย์ ที่นครปฐม เมื่อถึงสถานีเพชรบุรี มัคคุเทศน์ จะนำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี แวะซื้อของฝากจากเมืองเพชรจากนั้นมีบริการอาหารกลางวัน ช่วงบ่ายคลายร้อน ด้วยการเล่นน้ำที่หาดชะอำ  แล้วเที่ยวชมพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นการปิดท้ายรายการ รถไฟจะออกจากสถานีชะอำ กลับถึง กรุงเทพฯ ประมาณ 20.00 น. สำรองที่นั่ง ได้ที่ สถานีรถไฟหัวลำโพงโทร. 02-225-6964 หรือ 02-225-0300 ต่อ 5217
อัตราค่าบริการ
- รถธรรมดา ผู้ใหญ่ 580 บาท เด็ก 480 บาท
- รถปรับอากาศ ผู้ใหญ่ 680 บาท เด็ก 580 บาท
ตารางโทรศัพท์ติดต่อสอบถามรถไฟ
สถานีโทรศัพท์
กรุงเทพฯ (หัวลำโพง)
02-223-3762 ,  02-220-4334
ธนบุรี (บางกอกน้อย)
02-411-3102
สอบถามตารางรถไฟ (ปชส.)
1690
เพชรบุรี
032-425-211
ชะอำ
032-471-159

การเดินทางภายในตัวเมือง


การเดินทางในตัวเมืองเพชรบุรีค่อนข้างสะดวกสบาย มีรถหลายประเภท ให้เลือกใช้บริการ ดังนี้
1. รถสี่ล้อเล็ก ชาวเมืองเพชร เรียกว่า "รถเล้ง" มีวิ่งบริการอยู่ทั่วไป จะจอดรอผู้โดยสารอยู่ตามหน้าสถานีขนส่งสถานีรถไฟ ตลาด นักท่องเที่ยวควรถามคนขับก่อนขึ้นรถ ถึงเส้นทางที่รถจะผ่าน และจุดหมายปลายทางที่ต้องการจะไปรวมทั้งค่าโดยสาร อัตราค่าโดยสาร อย่างต่ำคนละ 5 บาท ราคาเหมารวม พาไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในตัวเมืองประมาณ 200-300 บาท
2. สามล้อถีบ มีบริการอยู่ทั่วไป จอดรอผู้โดยสารอยู่ตามจุดต่างๆ เช่นเดียวกับรถเล้ง รถหนึ่งคัน นั่งได้สองคนอัตราค่าโดยสาร ในระยะทางสั้นๆ (ประมาณ 1-2 กม.) คนละ 15 บาท ราคาเหมารวมพาไปตามที่ท่องเที่ยวต่างๆ ประมาณ สี่ห้าแห่ง 100 บาท
3. มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีวิ่งบริการในเมืองเพชรบุรี อยู่มากมายเช่นเดียวกัน อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 2 กม. คนละ 15 บาทมีบริการตั้งแต่ 06.00 - 23.00 น.การเดินทางไปเที่ยวต่างอำเภอ


1. รถสองแถว คิวรถสองแถวไปต่างอำเภอจอดกระจายอยู่ ในบริเวณตลาดเพชรบุรี ค่ารถประมาณ 10-20 บาท รถบางสายมีเวลาออกไม่แน่นอน โดยเฉพาะช่วงเวลากลางวันที่มีผู้โดยสารน้อย
2. รถแท็กซี่ป้ายดำ เป็นรถเก๋ง แต่ไม่มีสี หรือมีป้ายบอกชัดเจนเหมือนแท็กซี่ในกรุงเทพฯ จึงสังเกตได้ยากรถพวกนี้จะจอดอยู่ตามคิว และมีคนคอยร้องเรียกผู้โดยสาร ต้องมีผู้โดยสารครบหกคน รถจึงออกข้อดีของรถชนิดนี้คือ ใช้เวลาเดินทางน้อยกว่ารถสองแถว และสามารถเหมา ไปที่ต่างๆ ได้
3. รถเช่า ที่บริเวณชายหาดชะอำ มีรถมอเตอร์ไซค์ และรถจักยานให้เช่า ต้องวางบัตรประชาชน ไว้เป็นหลักฐานและจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า มีตัวอย่างราคา ดังนี้
- มอเตอร์ไซค์ 120 บาท / ชม. และ 300 บาท / วัน
- จักรยาน 10 บาท / ชม. และ 50 บาท / วันระยะทางจากตัวเมืองไปอำเภอต่าง ๆ และจังหวัดใกล้เคียง
จากตัวเมือง มีรถโดยสารไปยังอำเภอต่าง ๆ โดยมีระยะทางดังนี้
- อำเภอท่ายาง        18  กิโลเมตร
- อำเภอชะอำ        45  กิโลเมตร
- อำเภอบ้านแหลม        12  กิโลเมตร
- อำเภอบ้านลาด          8  กิโลเมตร
- อำเภอเขาย้อย        23  กิโลเมตร
- อำเภอหนองหญ้าปล้อง    34  กิโลเมตร
- อำเภอแก่งกระจาน        57  กิโลเมตร

นอกจากนี้จากตัวเมืองเพชรบุรียังมีรถโดยสารไปหัวหิน  ปราณบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  และราชบุรี  ระยะทางเป็นดังนี้
เพชรบุรี-หัวหิน        66  กิโลเมตร
เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์    158  กิโลเมตร
เพชรบุรี-ราชบุรี        54  กิโลเมตร

จังหวัดเพชรบุรี :: สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอเมือง

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)
เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 92 เมตร  เดิมเรียกว่า เขาสมนหรือเขาคีรี   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้    จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเพชรนิสัยศรีสวัสดิ์  ปลัดเมืองเพชรบุรีเป็นนายงานก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403  ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้
พระนครคีรีมีพระที่นั่ง   พระตำหนัก  วัด  และกลุ่มอาคารต่าง ๆ มากมาย   ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิค ผสมสถาปัตยกรรมจีน  ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ ๆ 3 ยอดด้วยกัน ดังนี้
ยอดเขาด้านทิศตะวันออก
   บริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณาราม   ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่งบนผนังทั้งสี่ด้าน  เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา    ส่วนบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว  เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี   เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ ภายในวัดพระแก้วประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดเล็ก ประดับด้วยหินอ่อน   ด้านหลังเป็นพระพุทธเสลเจดีย์    ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นหอระฆังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก
เขายอดกลาง
  เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร มีความสูง 40 เมตร  บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน จากจุดนี้สามารถมองเห็นพระที่นั่งต่าง ๆ บนยอดเขาอีก 2 ยอด  รวมทั้งทิวทัศน์ของตัวเมืองเพชรบุรีได้อีกด้วย
ยอดเขาด้านทิศตะวันตก
  เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับอันได้แก่   พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์  พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์  พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท  พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชชวาลเวียงชัย  หอพิมานเพชรมเหศวร  ตำหนักสันถาคารสถาน  หอจตุเวทปริตพจน์  ศาลาทัศนา-นักขัตฤกษ์  นอกจากนี้แล้วยังมีโรงรถ  โรงม้า  ศาลามหาดเล็ก  ศาลาลูกขุน  ศาลาต่าน  ศาลาเย็นใจ ทิมดาบ โรงครัว   ตามแบบพระราชวังทั่วไป รอบพระราชวังมีป้อมล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศคือ ป้อมทศรถป้องปากทางทิศตะวันออก ป้อมวรุฬหกบริรักษ์ทางทิศใต้ ป้อมวิรุฬปักษ์ป้องกันทางทิศตะวันตก  และป้อมเวสสุวรรณรักษาทางทิศเหนือ
กรมศิลปากรได้ใช้บางส่วนของพระราชวังบนยอดเขาด้านทิศตะวันตกนี้จัดตั้งเป็น  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี   ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ  ได้แก่   เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   รูปหล่อโลหะสำริดและทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่าง ๆ ในพระที่นั่ง  และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป   เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้  เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวันเว้นวันจันทร์ และวันอังคาร
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชม (รวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี)   ชาวไทย 10 บาท    ชาวต่างประเทศ 20 บาท  นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมเขาวังได้โดยการเดินขึ้น หรือโดยสารรถรางไฟฟ้า (ตั๋วไป-กลับ รวมค่าเข้าชมทั้งหมด) เสียค่าบริการ  ชาวไทย 30 บาท  ชาวต่างชาติ 40 บาท
วัดพระพุทธไสยาสน์
   ตั้งอยู่เชิงเขาวังด้านทิศใต้ เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีลักษณะงดงามและมีขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในสี่ของประเทศ
เขาบันไดอิฐ
เป็นเขาขนาดย่อมมียอดสูง 121 เมตร อยู่ห่างจากเขาวังประมาณ 2 กิโลเมตร   บนยอดเขามีวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ชื่อวัดเขาบันไดอิฐ   อันเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมาแต่เดิม   ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยานั้น  เจ้าอธิการแสงแห่งวัดเขาบันไดอิฐ  มีชื่อเสียงในด้านกรรมฐานมาก สมเด็จพระเจ้าเสือเคยทรงฝากตัวเป็นศิษย์   นอกจากวัดเขาบันไดอิฐ  ถ้ำแรก คือ “ถ้ำประทุน”  มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำทั้งสองด้าน ลึกเข้าไปจะเป็นถ้ำ “พระเจ้าเสือ” ที่ชื่อเช่นนี้เพราะมีเรื่องเล่ากันมาว่า  พระเจ้าเสือได้เสด็จมาหาอาจารย์แสง และได้ถวายพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรสูงประมาณ 2 เมตร  และได้ประดิษฐานไว้ที่ถ้ำนี้    ถ้าหากเดินต่อลึกเข้าไปทางด้านใต้จะมีบันไดลงสู่ถ้ำอีกคูหาหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า ถ้ำพระพุทธไสยาสน์  ด้วยมีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ มีพุทธลักษณะที่งดงามและตรงซอกผนังถ้ำมีประทุนเรือทำด้วยไม้เก่าแก่มาก เป็นประทุนเรือที่พระเจ้าเสือถวายอาจารย์แสง   นอกจากถ้ำที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เขาบันไดอิฐยังมีถ้ำอีกมากมาย  เช่น ถ้ำพระอาทิตย์  พระจันทร์  ถ้ำสว่างอารมณ์  ถ้ำช้างเผือก  และถ้ำดุ๊ค   ซึ่งมีชื่อตามดุ๊คโยฮันฮัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองปอร์นสวิค ผู้เคยมาเยือนเพชรบุรีและมาเที่ยวถ้ำแห่งนี้
ถ้ำเขาหลวง
   อยู่บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ 5 กิโลเมตร   จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำ  เขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมียอดสูงสุดเพียง 92 เมตร  มีหินงอกหินย้อยสีสันสวยงาม   ภายในมีปล่องที่แสงอาทิตย์สามารถส่องเข้ามาภายในถ้ำได้ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น  สำหรับถ้ำเขาหลวงถือเป็นถ้ำใหญ่และสำคัญที่สุดของจังหวัด  ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง   ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่เสด็จประพาสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4  พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดถ้ำเขาหลวงมาก  ได้ทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณภายในถ้ำนี้หลายองค์ด้วยกัน  และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไปในถ้ำ
ตรงทางเข้าเชิงเขาหลวงด้านขวามือมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง  ชาวเมืองเรียกว่า  “วัดถ้ำแกลบ” ปัจจุบันชื่อ  “วัดบุญทวี”   ซึ่งเป็นวัดใหญ่ น่าชมมาก  เพราะท่านเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นช่าง  ได้ออกแบบและสร้างศาลาการเปรียญที่ใหญ่โต  ประตูโบสถ์เป็นไม้สลักลายสวยงามมาก   วัดถ้ำแกลบนี้มีตำนานเล่าว่า  ปากถ้ำแกลบที่วัดนี้คือ  ทางเข้าสู่เมือลับแลอันเป็นเมืองที่มีแต่หญิงสาวทั้งนั้น   แต่ก็เป็นเพียงตำนานของชาวเมืองเพชรนับร้อยปีมาแล้ว
วัดมหาธาตุวรวิหาร  
อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 500 เมตร  เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีฝั่งตะวันตก  ภายในวัดแบ่งเขตพุทธวาสออกจากเขตสังฆาวาส  สิ่งที่น่าสนใจในวัด  ได้แก่  ปรางค์ห้ายอด เป็นปรางค์ก่ออิฐฉาบปูน  สร้างตามคติมหายานถวายพระธยานิพุทธทั้งห้า ซึ่งทำรูปจำลองประดิษฐานอยู่บนยอดปรางค์แต่ละองค์   สันนิษฐานว่าเดิมปรางค์ห้ายอดนี้ คงจะเป็นพระเจดีย์ห้ายอดเช่นเดียวกับที่เมืองนครศรีธรรมราช   แล้วมาแก้ไขเป็นปรางค์ในสมัยหลัง     ภายในปรางค์ใหญ่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ภาพปูนปั้นต่าง ๆ ในวิหารหลวงและพระอุโบสถ  ฝีมือช่างเมืองเพชร  ซึ่งหาดูได้ยาก     นอกจากนั้นในวิหารยังบรรจุพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเพชรบุรีนับถือมาก  คือ รูปหลวงพ่อวัดมหาธาตุ  รูปหลวงพ่อบ้านแหลม  และรูปหลวงพ่อวัดเขาตะเครา
วัดใหญ่สุวรรณาราม
อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนี้ปฏิสังขรณ์  ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ หรือพระศรีสรรเพชรที่ 8 โดยสมเด็จพระสังฆราชแตงโม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิสังขรณ์  และสร้างพระระเบียงคดรอบพระอุโบสถที่ไม่มีหน้าต่าง  ภายในมีภาพเขียนเทพชุมนุมที่แปลกกว่าที่อื่น ภาพเขียนนี้มีอายุกว่า 300 ปีมาแล้ว
ศาลาการเปรียญ
เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง เดิมเป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระราชวังที่อยุธยา  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าเสือได้ทรงถวายแก่สมเด็จพระสังฆราช ศาลาการเปรียญวัดนี้มีความสวยงามมาก ฝีมือการแกะสลักไม้อ่อนช้อยงดงาม  โดยเฉพาะที่บานประตู  ภายในศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์เทศน์  ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทองรูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุด
วัดกำแพงแลง
อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม  สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์    ต่อมาเมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณนั้น   จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน และหินยานตามลำดับ    เทวสถานที่สร้างขึ้นเดิมมีปรางค์  5  หลัง  ทำด้วยศิลาแลง    ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หลัง  สันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป  เช่น  พระอิศวร  พระนารายณ์  พระพรหม พระนางอุมา เพราะเมื่อ พ.ศ. 2499  มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลง  วัดนี้เมื่อดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแล้วได้สร้างพระอุโบสถขึ้น  โดยมิได้เปลี่ยนสภาพเดิมไปมากนัก จะเห็นได้ว่ารอบ ๆ วัด ยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่
หาดเจ้าสำราญ
  อยู่ห่างจากตลาดเมืองเพชรบุรีประมาณ 15 กิโลเมตร   ตามทางหลวงหมายเลข 3177   เป็นชายหาดที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากตั้งแต่สมัยโบราณ   ตามประวัติเล่ากันว่า  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ  ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน  จนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนปัจจุบัน  หาดเจ้าสำราญเจริญถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6   หาดเจ้าสำราญมีชื่อเสียงกว่าชายทะเลแห่งใด ๆ ในเมืองไทยสมัยนั้น   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้เรียกว่า พระตำหนักหาดเจ้าสำราญ  สำเร็จในปี พ.ศ. 2461  ต่อมารื้อไปสร้างใหม่ที่มฤคทายวัน
พระรามราชนิเวศน์  หรือ “พระราชวังบ้านปืน”
   ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหม้อ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   มีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับแรมในฤดูฝน   ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่จากราษฎร  และให้จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนคร สวรรค์วรพินิต  กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง  สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป  ออกแบบโดยมิสเตอร์คาลเดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท  และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ ปี พ.ศ. 2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ  โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม  โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล ฯลฯ
การเข้าชมต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบก  กองพันที่ 3  กรมทหารราบที่ 11 อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 76000 หรืออาจติดต่อที่ป้อมยามแลกบัตรเพื่อขอเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการ



จังหวัดเพชรบุรี :: สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอเขาย้อย

ถ้ำเขาย้อย
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาย้อยหลังสถานีรถไฟ เขาย้อยเป็นภูเขาโดดเด่นริมทางหลวงหมายเลข 4  อยู่ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 22 กิโลเมตร
ในถ้ำนี้มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยหลายปางประดิษฐานอยู่  คล้ายกับถ้ำเขาหลวง หรือถ้ำเขาบันไดอิฐ    ตามประวัติเล่าว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มีมานานแล้ว  และต่อมาพระครูอ่อนวัดท้ายตลาดมาบูรณะใหม่   และมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่ากันว่าสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่นั้น  พระองค์ได้เสด็จธุดงค์วัตรมาปักกลดวิปัสสนาที่หน้าเขาย้อย แล้วทรงย้ายขึ้นมาประทับนั่งกรรมฐานอยู่ในถ้ำเขาย้อยหลายคืน
เขาอีโก้
  อยู่ตำบลห้วยโรง ทางตอนเหนือของอำเภอเขาย้อย บนยอดเขาอีโก้  มีพระเจดีย์สำคัญองค์หนึ่งซึ่งเจ้าอธิการแก้ว วัดพวงมาลัย  เมืองแม่กลองมาสร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 2455   ในเทศกาลสงกรานต์ ชาวเขาย้อยนิยมเดินขึ้นมาไหว้พระบนยอดเขานี้เป็นประเพณีสืบมา
วัดกุฏิ
  ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเค็ม เป็นวัดโบราณ พระอุโบสถสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง  รอบพระอุโบสถด้านนอกสลักเป็นเรื่องทศชาติ มหาชาติ และไซอิ๋ว   หน้าบันสร้างเป็นมุขประเจิด  ลายหน้าบันเป็นลายไม้แกะสลัก ทางด้านข้างมีตับ หลังคาปีกนกลาดลง 2 ชั้น  เครื่องลำยองเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกมีลวดลายแกะสลักงดงาม บานประตูเป็นลายเถาทะลุโปร่ง   แกะสลักลายลึก  ฝีมือประณีตด้วยช่างชั้นครู
หมู่บ้านไทยดำหรือไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง
พบได้ทั่วไปในเขตอำเภอเขาย้อย โดยเฉพาะ ที่บ้านหนองปรงและบ้านทับคาง ชาวไทยดำเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากประเทศลาว และยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี   ชาวไทยดำจะจัดงานสังสรรค์ มีการแต่งกายแบบพื้นเมือง และการละเล่นต่าง ๆ
สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง

น้ำพุร้อน
  อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบุรีประมาณ 50 กิโลเมตร สามารถนำรถเข้าถึงบริเวณน้ำพุร้อนได้ หรือจากอำเภอหนองหญ้าปล้องเข้าไปประมาณ 16 กิโลเมตร  มีน้ำพุ 3 แอ่ง   ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เมตร ความร้อนของน้ำสามารถต้มไข่ให้สุกได้
สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอบ้านแหลม

แหลมหลวง
   อยู่ในตำบลแหลมผักเบี้ย ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 15 กิโลเมตร  ตามเส้นทางเดียวกับทางไปหาดเจ้าสำราญ  โดยแยกซ้ายก่อนถึงหาดเจ้าสำราญเล็กน้อย    ลักษณะเป็นปลายแหลมของหาดทรายยื่นยาวออกไปในทะเลถึง 2 กิโลเมตร    เป็นชายทะเลที่สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
วัดเขาตะเครา
   ตั้งอยู่ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม สามารถไปได้สองทาง  ทางแรกก่อนจะเข้าตัวเมืองเล็กน้อย    มีถนนแยกซ้ายมือเข้าสู่วัดเขาตะเครา ระยะทาง 15 กิโลเมตร   อีกเส้นทางหนึ่งคือ  เดินทางจากเมืองเพชรไปบ้านแหลม  แล้วขับรถต่อไปอีก 6 กิโลเมตร ก็ถึงวัดเขาตะเครา ที่วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย  สูง 29 นิ้ว  หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว  เรียกกันว่า หลวงพ่อเขาตะเครา  มีชาวเมืองและนักท่องเที่ยวไปกราบไหว้ปิดทองเป็นอันมาก จนกระทั่งบัดนี้แลไม่เห็นพุทธลักษณะเดิม  มีประวัติเล่าถึงหลวงพ่อองค์นี้ว่าเป็นพระพี่พระน้อง 3 องค์กับหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา  หลวงพ่อบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม  บางตำราว่าเป็นพี่น้องกันถึง 5 องค์คือ หลวงพ่อบางพลีใหญ่   และหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่นครปฐมด้วย  ที่มาของพระพุทธรูปนี้เมื่อปลายสมัยอยุธยา ตอนที่ชาวบ้านแหลมเมืองเพชรหนีพม่า ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปากน้ำแม่กลอง  จนกระทั่งกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสมุทรสงครามในทุกวันนี้นั้น   วันหนึ่งชาวประมงบ้านแหลมไปตีอวนที่ปากอ่าว  ได้พระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์   องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร  อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย   ชาวบ้านแหลมนำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลมเดี๋ยวนี้ คือ วัดเพชรสมุทรวิหาร กลางเมืองสมุทรสงคราม ส่วนอีกองค์มอบให้ญาติชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานที่  วัดเขาตะเครา  อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
หมู่บ้านบางขุนไทร
   ตั้งอยู่ตำบลบางขุนไทร  จากตัวเมืองไปทางบ้านแหลม  ระยะทาง 12 กิโลเมตร  แล้วเดินทางต่อไปบางขุนไทรเป็นระยะทางอีก 7 กิโลเมตร  เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ติดริมทะเล    ชาวบ้านมีอาชีพเก็บหอยเสียบ   โดยใช้กระดานเลื่อนไปบนผิวเลน
สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอท่ายาง

หาดปึกเตียน
  อยู่ในท้องที่ตำบลปึกเตียน  ห่างจากหาดเจ้าสำราญไปทางใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร    หรือสามารถเดินทางไปทางถนนเพชรเกษมถึงอำเภอท่ายางแล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกคลองชลประทานสาย  2  ไปตามถนนนี้ประมาณ  15  กิโลเมตร    บริเวณหาดปึกเตียนเป็นหาดทรายขาว สะอาด เหนือหาดมีลำคลองปึกเตียนไหลผ่าน
สถานที่น่าสนใจในอำเภอแก่งกระจาน

เขื่อนแก่งกระจาน
  อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชร 53 กิโลเมตร  สามารถไปได้ 2 ทาง คือ ไปทางอำเภอท่ายางขับรถต่อไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตร ก็จะถึงเขื่อนหรือไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณหลักกิโลเมตรที่  186-187    จะมีทางแขกขวามือเข้าไปตามทางอีกประมาณ 30 กิโลเมตร  เขื่อนแก่งกระจาน สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2509 สูง 58 เมตร  เป็นเขื่อนดินกั้นแม่น้ำเพชรบุรี  สันเขื่อนยาว 760 เมตร  กว้าง 8 เมตร  ฐานตอนที่กว้างที่สุด 250  เมตร เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่และเป็นสถานที่เหมาะสำหรับพักผ่อนที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
    เป็นอุทยานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มากที่สุดของประเทศไทย  มีพื้นที่ถึง  2,915  ตารางกิโลเมตร  หรือ 1.8 ล้านไร่   ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524  โดยกำหนดพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและป่าเหนือเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขตอุทยานฯ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสายที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ริมทะเลสาบตอนใต้  จากสันเขื่อนแก่งกระจาน มีถนนเลียบออกมาทางซ้ายมือเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอชะอำ

หุบกระพง  
อยู่ก่อนถึงชะอำประมาณ 4 กิโลเมตร ตามเส้นทาง 3203 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 201-202   จะมีทางแยกขวามือเป็นทางลาดยาง เข้าไปอีก 8 กิโลเมตร  ก็จะถึง สหกรณ์หุบกระพง  ซึ่งอยู่ในตำบลเขาใหญ่ เขตอำเภอชะอำ  แต่เดิมมีสภาพแห้งแล้ง จนในปี พ.ศ.2505  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ทรงมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในนิคมเขื่อนเพชร    โครงการพัฒนาชนบท “หุบกระพง”  ตามพระราชประสงค์จึงได้เริ่มขึ้นในปี  พ.ศ. 2507  โดยมีประเทศอิสราเอลให้ความช่วยเหลือ   โครงการนี้ชื่อว่า  “โครงการไทย-อิสราเอล”  ได้มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืฃผลต่าง ๆ  ตามความต้องการของตลาด  มีการแนะนำให้เกษตรกรรู้จักการปลูกพืชตามหลักวิชาการ และมีการจัดตั้ง สหกรณ์การเกษตรหุบกระพง    นักท่องเที่ยวสามารถซื้อผลิตผลทางการเกษตรได้ที่ ตลาดหน้าศูนย์สาธิต  รวมทั้งสามารถซื้อสินค้าในโครงการศิลปาชีพ  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากป่านศรนารายณ์
หาดชะอำ
  อยู่ห่างจากตัวเมือง 41 กิโลเมตร    มีทางแยกซ้ายเข้าชายหาด ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร   เป็นชายหาดที่สวยงามและมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี   เดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก   แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง  ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด   พวกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นจึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่     โดยการนำของสมเด็จกรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์   และได้พบว่าหาดชะอำเป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน ชะอำจึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา   ชะอำได้รับการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น  และยกฐานะเป็นอำเภอจนปัจจุบัน
การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขบวนการรถไฟพิเศษนำเที่ยวกรุงเทพฯ-ชะอำ    ทุกวันหยุด  รายละเอียดติดต่อหน่วยบริการเดินทาง  โทร. 223-7010, 223-7020
วนอุทยานชะอำ
อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษมเลยสี่แยกอำเภอชะอำไปทางใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ 400 กว่าไร่  ภายในวนอุทยานฯ มีสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ   มีไม้ดอกไม้ประดับสวยงามมากมาย  มีต้นไม้ใหญ่น้อย  ร่มรื่น  อากาศเย็นสบาย     นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับด้วย   ผู้สนใจนำไปตกแต่งประดับสถานที่ต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ที่วนอุทยานฯ
ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทราย
    ตั้งอยู่บริเวณเขาเตาปูน ตำบลสาม-พระยา จากอำเภอชะอำไปทางใต้ประมาณ 14 กิโลเมตร  จะมีทางแยกขวามือไปวิทยาลัยเกษตรกรรมเพชรบุรี  จากทางแยกเข้าประมาณ 4 กิโลเมตร  เป็นศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิด เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ไม่เสียค่าเข้าชม
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ที่ตำบลห้วยเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  ตรงหลักกิโลเมตรที่ 216 เลยหาดชะอำมาเล็กน้อย  เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2466  ได้รับขนานนามว่า “พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง”  ลักษณะเป็นพระตำหนักไม้สองชั้น  หันหน้าออกสู่ทะเล พระตำหนักฝ่ายในอยู่ปีกขวา ทางปีกซ้ายเป็นส่วนของฝ่ายหน้า  ประกอบด้วยพระที่นั่งสามองค์เชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด พระที่นั่งสุนทรพิมาน เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายา พระที่นั่งพิศาลสาครเป็นที่ประทับของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหมู่พระที่นั่งตรงกลางประกอบด้วยห้องต่าง ๆ  สำหรับสำราญพระอิริยาบถ  ห้องพักข้าราชบริพารที่คอยรับใช้ใกล้ชิด ห้องทรงพระอักษร และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์  เป็นอาคารโถงสองชั้นเปิดโล่งใช้เป็นที่ประชุมในโอกาสต่าง ๆ   และเป็นโรงละครซึ่งเคยจัดแสดงละครครั้งสำคัญ  2  ครั้ง  คือ เรื่องพระร่วง และวิวาห์พระสมุทร
ในปี พ.ศ.2484 เจ้าพระยารามราฆพ ได้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ถวายเป็นพระราชานุสรณ์ประดิษฐานไว้ ณ ท้องพระโรงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และได้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเป็นพระราชสักการะ เนื่องในวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน  เป็นประจำทุกปี
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30-16.00 น. สำหรับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะ    ต้องทำหนังสือถึงผู้กำกับการกองบังคับการฝึกพิเศษ  ค่ายพระรามหก  อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี  โทร. (032) 471388






[ แก้ไขล่าสุดโดย watkaeng เมื่อ 07-07-2010 17:01 ]
ให้คะแนนโพสต์ตามความรู้สึกคุณ

สุดยอด

เศร้า

น่าตลก

แฮปปี้

โกรธ

เบื่อ

ผวา
ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้ถูกให้:
ตั้งกระทู้ ตอบ
กลับไปยังรายการ
กล่องตอบกลับด่วน
จำกัด255 ตัวอักษร
ขี้เกียจตอบหรือเปล่า ใช้ตรงนี้สิ!!
สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
 
ถอยกลับ ถัดไป